ลมแดด

“ลมแดด”  หรือ “ฮีทสโตรก”

            ฤดูร้อน  อากาศร้อนมาก(แต่ปีนี้แปลกๆ ถึงเดือนเมษายนแล้วยังมีอากาศเย็นๆมาเป็นระยะ)  ร่างกายต้องระบายความร้อนออก  เพื่อรักษาความสมดุลของอุณหภูมิในร่างกายโดยปรกติต้องไม่เกิน 37 องศา หากอุณหภูมิร่างกายกว่านั้น  แสดงว่ามีไข้ หรือความร้อนสุมอยู่ภายในมากเกินไป

           เมื่อร้อนมาก  ความร้อนจะเผาทำลายสารน้ำในร่างกาย ทำให้อวัยะภายในร้อนระอุ ทำร้ายหัวใจทำให้หงุดหงิด  กระสับกระส่าย ทำร้ายสมองทำให้วิงเวียน  เป็นลมหมดสติ ความร้อนไม่ลดลงลงจะอันตรายถึงชีวิตได้

           จะเห็นได้ว่า   “โรคลมแดด” เกิดจากอากาศร้อนจัด  แดดจัด ตัวเราเองอยู่ท่ามกลางแดดร้อนจัด  โดยไม่มีอะไรป้องกันแดดเลย หรืออากาศร้อนๆแต่ใส่เสื้อผ้าหนา ไม่ระบายลม   อยู่ในที่อุดอู้ลมไม่พัดผ่าน โอกาสเสี่ยงที่จะเป็น“ลมแดด”ได้มาก   สังเกตอาการได้ คือ โรคเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน   แปรเปลี่ยนเร็ว หากแก้ไขไม่ทันจะเป็นลมหมดสติได้   

            อาการเบาๆ จะแค่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หูอื้อ ตาลาย คลื่นไส้อยากอาเจียน  อ่อนแรง กระหายน้ำ เหงื่อออกมาก หากเกิดอาการเช่นนี้ต้องรีบหาที่เย็นๆมีลมพัดผ่าน  คลายเสื้อผ้าให้โล่ง ค่อยๆดื่มน้ำทีละน้อย   

            มีครั้งหนึ่ง  ในเดือนเมษายนไปธุระในเมืองอากาศร้อนมาก  ขากลับนั่งรถตู้ รถตู้คันนั้นค่อนข้างเก่า  แอร์ไม่เย็น แถมยังได้นั่งหลังอีก รถออกสักพัก  รู้สึกร้อนดันขึ้นบนใบหน้าศีรษะ อึดอัดมาก อยากเปิดกระจำรถรับลม  แต่ทำไม่ได้ บอกใครก็ไม่ได้ จะเป็นลมเอา นึกขึ้นได้ว่าพกชาจีนแก้ร้อนใน  จึงเอาออกมาจากกระเป๋า เทเข้าปาก ดื่มน้ำที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดในขวด หลังจากนั้นไม่นาน  ความร้อนถูกดึงลงจากศีรษะ ใบหน้า รู้สึกร้อนน้อยลง สบายตัวขึ้น ไม่เป็นลมแล้ว จากนั้นมา ชาตัวนี้จะพกติดตัวเสมอ  หากร้อนจากแดดจากความร้อนเมื่อใด จะกินทันที อาการร้อนจนรู้สึกไม่สบายจะดีขึ้นทันตาเห็น แนะนำให้ผู้หลายคนนำไปใช้ เป็นที่ชื่นชอบกันมาก

             ถ้าอาการอาการหนักหน่อย   ความร้อนในตัวสูงขึ้น  อาจถึง 38 องศา รู้สึกร้อนมาก  อึดอัด พร้อมกับหน้าแดง แน่นหน้าอก  กระสับกระส่าย หายใจถี่ ผิวหนังแสบร้อน  หากนานเข้าอาจเปลี่ยนเป็นหน้าซีดขาว เหงื่อออกมาก  ผิวหนังเย็นชืดเปียกชุ่มด้วยเหงื่อ หัวใจเต้นเร็ว

            อาการหนักที่สุด  ความร้อนในร่างกายอาจสูงถึง 40 องศา  จะเป็นลมล้มลงทันที หมดสติ เป็นตะคริว  มือเท้าเกร็ง เหงื่อไหลริน อาจจะอันตรายถึงชีวิต

 

            การป้องกัน

  •  ต้องไม่อยู่ท่ามกลางแดดจัดหรือสถานที่อากาศร้อนจัด   โดยเฉพาะช่วงกลางวันร้อนจัดๆ
  • ใส่เสื้อผ้าบางเบา  สีจาง ลมพัดผ่านได้
  •  เวลาออกแดดต้องใส่หมวก  หรือ กางร่ม เพื่อช่วยป้องกันความร้อนที่ศรีษะ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ  โดยดื่มทีละน้อยไปเรื่อย ๆ   เพื่อเติมน้ำให้กับร่างกาย ไม่ใช่ดื่มทีเดียวมากๆ
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เย็น  เช่นน้ำถั่วเขียว จับเลี้ยง เก๊กฮวย  แตงโม เป็นต้น

          การปฐมพยาบาลคนที่เป็นลมแดด  

  1. ไม่ต้องมุง   เพราะ อากาศจะถ่ายเทไม่สะดวก จะทำให้อาการหนักยิ่งขึ้น
  2. ให้ดื่มน้ำเกลือแร่  ถ้าไม่มีก็ดื่มน้ำธรรมดาแทนเพื่อลดความร้อน
  3. รีบคลายเสื้อผ้าออกให้ความร้อนระบายออกและพาเข้าที่ร่มที่มีลมพัดผ่าน   หรือพัดวีให้ก็ได้


          โรคที่ตามมากับหน้าร้อน

             หน้าร้อนไม่เพียงแต่ป้องกัน”โรคลมแดด”เพียงอย่างเดียว  ยังต้องป้องกันโรคที่เกิดขึ้นหลายโรค เช่น

  • ท้องร่วง  หน้าร้อนแบคทีเรียมีมาก  อาหารเน่าเสียง่าย แมลงวันเยอะ  ทำให้เกิดท้องร่วง เป็นบิด ลำไส้อักเสบ
  • กระเพาะม้ามหนาวเย็น  หน้าร้อน กระเพาะม้ามจะหนาวเย็นได้อย่างไร   ก็เพราะหน้าร้อน อากาศร้อนมาก ผู้คนส่วนมากจึงชอบกินผักผลไม้ฤทธิ์เย็น  กินน้ำแข็ง น้ำปั่น ไอศกรีม เมื่อกินมาก ทำให้กระเพาะลำไส้สั่งสมความหนาวเย็น  ทำให้เกิดความชื้น จนเกิดอาการ
  • อืดแน่นท้อง  อาหารไม่ย่อย แน่นหน้าอก     เบื่ออาหาร
  • ไม่สดชื่น     แขนขาอ่อนแรง  ถ่ายเหลวเหงื่อออกมาก    
  • ขี้เซาอยากนอนอย่างเดียว   ผอมลงทุกวัน

           ผู้ที่มักมีอาการเช่นนี้ เมื่อเวลาเวลาเข้าหน้าร้อนต้องรู้จักป้องกันก่อนดังนี้  

  • ก่อนฤดูร้อนจะมาถึง ให้ลดปริมาณอาหารลง เคยกินเต็มอิ่ม ควรลดเหลือ อิ่มแค่ 8 ส่วน   
  • ควรหลีกเลี่ยงอาหารมัน กินอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อลดภาระของกระเพาะและม้าม
  • กินดื่มอาหาร  พืชผักผลไม้ฤทธิ์เย็นแต่น้อย หรือกินเย็นและร้อนคละเคล้ากันไป
  • ควรกินยาที่ช่วยถนอมกระเพาะม้ามเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กระเพาะและม้าม  เช่น ขมิ้นชัน เป็นต้น

           นอกจากนี้ หน้าร้อน  ทำให้เกิดฝนตก พายุฤดูร้อน  ลูกเห็บตก เกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ   อีกทั้งเมื่อมีฝนย่อมมีความชื้น ส่งผลกระทบถึงการทำงานของม้ามและกระเพาะลำไส้ด้วยเช่นกัน . จะทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติได้

 

Visitors: 111,436