อาการร้อนแผ่นหลังในผู้สูงอายุคืออะไร

อาการร้อนแผ่นหลังในผู้สูงอายุ คืออะไร

          ก่อนหน้านี้เคยกล่าวเรื่องหนาวมาแล้ว  วันนี้มาว่าเรื่องร้อนๆ พักนี้มีผู้สูงอายุ 60กว่า-80กว่า
มีอาการร้อนแผ่นหลัง ร้อนยอดอก ร้อนฝ่ามือฝ่าเท้ามารักษาค่อนข้างมาก
ไม่เพียงร้อน บริเวณดังกล่าว
ยังมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ผิวแห้ง นอนไม่หลับ บางคนร้อนท้อง
หงุดหงิด นอนไม่หลับตามมาอีกด้วย

 

          อาการเช่นนี้กินยาแก้ร้อนในไม่หาย  เพราะไม่ใช่ร้อนจากหยางมาก
แต่เกิดจากยินน้อยหรือเรียกว่า “ยินพร่อง”  เพราะอะไรหรือผู้สูงอายุจึงมีอาการดังกล่าว

         เมื่ออายุมากขึ้น  ความเสื่อมของร่างกายมาเยือน
ความเป็นยินหยางในร่างกายเสียความสมดุล   โดยทั่วไป พออายุ 50-60 ขึ้นไป
ยินในร่างกายเริ่มลดน้อยลง  ทำให้เกิดอาการร้อนฝ่ามือ ฝ่าเท้า ร้อนยอดอก
ซึ่งแพทย์แผนจีนจะเรียกว่า “ยินไตพร่อง”

 

          ถ้าอาการยินพร่องในระยะเริ่มแรกยังไม่ได้รักษา  หรือรักษาไม่ถูกต้อง
จะทำให้ยินพร่องมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่อาจดึงหยางไว้ได้
อาการร้อนยิ่งเพิ่มทวีคูณ กลายเป็นไฟเผาผลาญน้ำในร่างกายมากขึ้น

 

          นอกจากเกิดอาการร้อนฝ่ามือฝ่าเท้า  ร้อนยอดอกแล้ว ยังมีอาการ

  • ยังร้อนระอุในกระดูก  
  • ร้อนแผ่นหลัง ร้อนท้อง ร้อนดวงตา  
  • ปากคอแห้ง น้ำลายน้อย ผิวแห้ง 
  • นอนไม่หลับ  ฝันมาก 
  • ลิ้นแดง ไม่มีฝ้าเลย หงุดหงิดใจเต้นเร็ว
  • เป็นเพราะไฟได้เผาไหม้จนก่อกวนจิตประสาท
  • ร่างกายผอมลงเพราะไฟเผาน้ำไปมาก
  • บางคนเหงื่อออกกลางคืน  บางคนเหงื่อมากในตอนกลางวัน
  • ขยับหน่อยเดียวเหงื่อท่วมตัว  อยู่ไม่เป็นสุขเลย เป็นต้น

 

          อาการดังกล่าวของผู้สูงอายุเหล่านี้   แผนจีนเรียกว่า “ยินพร่องไฟลุก” 
อาการเช่นนี้ลำพังดื่มน้ำมากๆเท่านั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้
จำต้องให้ยาจีนช่วยบำรุงยิน ลดร้อน

          พอให้ยาเหล่านี้ไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่  อาการร้อนลดลงอย่างรวดเร็ว
สบายตัวขึ้น  หายร้อน นอนหลับได้

         แต่บางท่าน  แม้จะมีอาการร้อนระอุในกระดูกสันหลัง
แผ่นหลัง ใบหน้าเอามากๆ แต่กลับเย็นที่เท้าถึงเข่า   อาการซับซ้อนขึ้นไปอีก
เพราะยินพร่องปล่อยไว้นานจนลามไปทำให้หยางพร่อง

จึงเกิดอาการพร่องทั้งยินทั้งหยาง แผนจีนเรียกว่า “บนร้อนล่างเย็น”
อาการเช่นนี้ ลำพังให้ยาเพิ่มสารยินอย่างเดียวไม่พอ

จะทำให้เท้ายิ่งเย็น
หรือให้ยาเพิ่มหยางอย่างเดียวทำให้ข้างบนยิ่งร้อนขึ้น
เป็นการรักษาที่ค่อนข้างยาก และต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลร่างกาย

         ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ให้ยาบำรุงยิน   จำต้องเพิ่มยาบำรุงหยางเข้าไปด้วย ทั้งนี้ต้องทำอย่างระมัดระวัง

หมอต้องวิเคราะห์โรคให้แม่นยำ

 

 

สงวนลิขสิทธิ์ เนื้อหาโดย ไพรเวชคลินิก ห้ามนำเนื้อหาไปใช้ทางการค้าโดยมิได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

Visitors: 119,826