หน้าที่และความสำคัญของม้าม 2

 

หน้าที่และความสำคัญของกระเพาะม้าม

          ท่านหลี่ตงหยวนเป็นแพทย์แผนจีนที่เกิดในสมัยที่เมืองจีนเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชนชาติและชนชั้นจนเกิดสงครามกลางเมืองสู้รบกันไม่หยุดหย่อน
(ราวปี ค.ศ. 1213-1220) ท่านได้สร้างคุณูปการใหญ่หลวงในการเสริมคลังปัญญาด้านเนื้อหาทางทฤษฎีและวางรากฐานแนวทางการปฏิบัติแก่แพทย์แผนจีน
ในการดูแลกระเพาะม้ามให้มีความสมบูรณ์รอบด้าน

         จนได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนสำนัก “กระเพาะม้าม” และได้สร้างตำรับยาสำหรับบำรุงหยางม้ามให้แข็งแรง เสริมพลังความอบอุ่นของระบบย่อยให้ดีขึ้น
จึงสามารถรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาดในยุคนั้นได้

          ในทางการแพทย์แผนจีนถือว่า ม้าม ประกอบด้วยกระเพาะม้าม ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก และซานเจียวซึ่งเป็นทางเดินของลมปราณและน้ำ อวัยวะเหล่านี้
ประกอบกันเป็นระบบย่อยที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร  และส่งสิ่งบำรุงเลี้ยงให้แก่ร่างกาย อวัยวะทั้งสี่ที่เหลือคือ หัวใจ ปอด ตับ และไต ต่างก็ต้องพึ่งพาการย่อย
และการส่งลำเลียงจากกระเพาะและม้าม  มาช่วยให้การทำงานของอวัยวะแต่ละอย่างมีความแข็งแรง

 

หน้าที่ของม้ามมีดังนี้

  1. ม้ามทำหน้าที่ “ส่งสารใสขึ้น”

          คำว่า “สารใส” นี้คือ สารอาหารที่ผ่านการย่อยจากอาหารการกิน จากนั้นม้ามจะทำหน้าที่คัดสรรสารอาหารที่เปี่ยมด้วยคุณภาพในการบำรุงเลี้ยงชีวิต
เป็นสารดีที่ร่างกายของคนเราต้องการ

          “สารใส” เป็นสารที่ตรงข้ามกับ “สารขุ่น” ที่โดยทั่วไปเรียกกันว่ากากอาหารนั่นเอง

          โบราณจีนกล่าวว่า ม้ามถือการ “ขึ้น” เป็นความแข็งแรง ชี่ม้ามต้อง “ขึ้น” เพื่อถ่วงดุลกับการ “ลง” ของชี่กระเพาะ

          ทุกครั้งที่กล่าวถึงคำว่า ชี่ นั่นหมายถึงพลังขับเคลื่อน หรือลมปราณ ในอวัยวะต่างๆ หรือในร่างกายของเรา

          ชี่ม้ามต้อง “ขึ้น” เพื่อถ่วงดุลกับการ “ลง” ของชี่กระเพาะ สารที่ร่างกายไม่ต้องการ ต้องส่งลงล่างและขับออกนอกร่างกาย

            จึงกล่าวได้ว่าการจะนำ “สารใสส่งขึ้น” สู่ ปอดได้ดีต้องมีชี่ม้ามที่แข็งแรง สิ่งที่จะทำให้ม้ามไม่แข็งแรงและทำงานไม่ดีก็คือ ถ้าชี่กระเพาะไม่ลงย่อมส่งผล
กระทบต่อการดึงขึ้นของชี่ม้ามเช่นกัน

          การกินอาหารอิ่มมากเกินไป ย่อยไม่ไหว ชี่กระเพาะไม่ลง จึงเกิดอาการอึดอัด แน่นยอดอก คลื่นไส้ อยากอาเจียน เรอเหม็นเปรี้ยว ลามกระทบไปถึงการทำงาน
ของม้าม  แยกแยะสารใสและสารขุ่นไม่ออก

          ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องร้อง อุจจาระเหม็นกรณีเช่นนี้เรียกว่า “ชี่กระเพาะไม่ลง” ส่งผลกระทบทำให้ “ชี่ม้ามไม่ขึ้น” ต้องใช้ยาช่วยย่อยเพื่อให้กระเพาะ
ย่อยอาหารได้ดีขึ้น ชี่ม้ามจึงจะมีแรงดึงขึ้นได้

          จากสาเหตุดังกล่าวนี้ จึงเห็นได้ว่าการทำงานที่แข็งแรงเป็นปรกติของกระเพาะและม้ามเกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของชี่กระเพาะและม้ามอย่างแน่นแฟ้น และการ
ขึ้นลงของชี่เกี่ยวข้องกับการ “ส่งสารใส” ของม้ามอย่างแยกไม่ออก

          ถ้ากลไกชี่ในการขึ้นลงดี การย่อย การดูดซึม การลำเลียงสารใสดี ส่งสารขุ่นลงล่างดี การขับถ่ายก็จะดีสามารถเติมเต็มสารชีวิตให้แก่"ไต"ไม่ขาดสาย
ร่างกายเราก็จะแข็งแรง เสื่อมช้า แต่ถ้าหากว่าการขึ้นลงของชี่กระเพาะม้ามไม่ดี การย่อย การดูดซึม การลำเลียงสารใสติดขัด การส่งสารขุ่นติดขัด การขับถ่ายก็จะไม่ดี ทำให้คลื่นไส้ อยากอาเจียน กินอาหารอิ่มเร็ว อืดแน่นท้อง เป็นต้น

         ดังนั้น ถ้าเราถนอมม้าม ถนอมการขึ้นลงของชี่ให้ดี ให้ชี่เดินคล่อง ระบบย่อยก็จะดี ไม่เป็นโรคกระเพาะ หรือโรคอื่นๆที่จะเกิดขึ้นกับม้ามและกระเพาะในภายหลัง

 

  1. ม้ามทำหน้าที่ปกครองเลือด

          อวัยวะที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับเลือด ได้แก่ หัวใจทำหน้าที่ควบคุมเลือด สูบฉีดเลือดส่งไปทั่วร่างกายตับทำหน้าที่เก็บกักเลือดและแบ่งปันเลือดไปยังส่วนต่างๆ
ของร่างกาย ส่วน ม้าม มีหน้าที่ปกครองเลือด

          การปกครองเลือดที่ว่านี้ หมายถึง การควบคุมดูแลให้เลือดไหลอยู่ในกรอบ ให้เลือดไหลไปตามเส้นเลือด ซึ่งม้ามมีหน้าในการควบคุมดูแลการไหลของเลือด
ดังที่ว่านี้

          ถ้าม้ามแข็งแรง การปกครองเลือดก็จะเป็นได้ด้วยดี เลือดไม่ไหลออกนอกเส้นเลือด ไม่มีเลือดออกในร่างกาย แต่ถ้าม้ามไม่แข็งแรง หน้าที่ในการปกครองเลือดอ่อนแอลง เลือดจะไหลออกนอกเส้นเลือด เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนมามากผิดปรกติ

          การแพทย์แผนจีนจึงรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดด้วยการปรับสมดุลการทำงานของม้ามให้แข็งแรง

 

  1. ม้ามช่วยสร้างเลือด

          ม้ามนอกจากจะปกครองเลือดแล้ว ยังช่วยสร้างเลือด ซึ่งหมายถึงเป็นแหล่งผลิตเลือด เพราะม้ามเป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่งในระบบย่อยอาหาร เป็นพลังชีวิต
หลังกำเนิด เป็นแหล่งพลังชี่เลือด การผลิตเลือดต้องมีวัตถุดิบที่มาจากอาหารที่เรากินเข้าไป ผ่านการย่อยและขนส่งลำเลียงของกระเพาะและม้าม

          จึงกล่าวได้ว่าม้ามเป็นอวัยวะที่ช่วยสร้างเลือด ดังนั้น หากม้ามแข็งแรง ย่อยและส่งลำเลียงได้ดีชี่เลือดจะสมบูรณ์ เลือดไหลเวียนดี ผิวพรรณผ่องใส มีเรี่ยวมีแรง
มีเลือดเต็มเปี่ยมในเส้นเลือด ร่างกายจึงแข็งแรงดี

 

  1. ม้ามควบคุมกล้ามเนื้อแขนขา

          อาหารที่เรากินเข้าไปเมื่อผ่านการย่อย การส่งลำเลียงของกระเพาะและม้าม กล้ามเนื้อก็จะได้รับสารอาหารเหล่านี้จึงแข็งแรง มีรูปร่างที่สวยงาม

          แต่ถ้าการทำงานของม้ามอ่อนแอจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อลีบอ่อนแรง แขนขาอ่อนแรงด้วย

          ดังนั้นโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง แพทย์แผนจีนจึงรักษาด้วยการฝังเข็ม บำรุงม้ามให้แข็งแรง พร้อมกับเสริมการรักษาอาการอื่นตามสภาพผู้ป่วยแต่ละคน

 

  1. ม้ามควบคุมการครุ่นคิด

          การครุ่นคิดหมายถึง การขบคิด ตรึกตรอง รวมไปถึงการวิตกกังวลตลอดจนขอบข่ายในการรับรู้ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการขบคิด ตรึกตรอง ค้นคว้าหาข้อสรุป
การมีสมาธิ การมีใจจดจ่อ ความไวต่อการรับรู้ปัญหารอบด้าน และความเฉลียวฉลาดหลักแหลม

          บรรดาผู้นำ ผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ต่างก็ล้วนใช้สมองในการขบคิดตรึกตรองในการทำงานหรือการศึกษาเล่าเรียน การที่ต้องใช้
สมองเพื่อการขบคิดตรึกตรองเช่นนี้ล้วนเป็นผลการทำงานของชี่เลือดที่ไหลเวียน ซึ่งเกิดจากการทำงานของม้าม

          เมื่อใดที่คนเราใช้สมองมากเกินไป ชี่ม้ามก็จะอ่อนแอ ส่งผลให้ขี้หลงขี้ลืม ขาดสมาธิ ไม่ฉับไว เฉียบคม เชื่องช้า มึนงง ความจำลดลง ดังนั้นเมื่อมีอาการเหล่านี้ แพทย์แผนจีนจะรักษาด้วยการบำรุงม้ามให้แข็งแรง

ติดต่อเรา

 สอบถามรายละเอียด

นัดหมาย หรือ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

 CLICK เลย!! 

ฝังเข็ม ติดต่อไพรเวช 

ติดต่อ ไพรเวชคลินิก  

 

Visitors: 112,195